บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


คุณภาพชีวิตประชากร

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งศึกษา การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรชาวมันนิผ่านการได้รับบัตรประชาชน และสิทธิสวัสดิการของรัฐ โดยศึกษาชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล แถบบริเวณป่าเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วยกลุ่มถ้ำเพชร และกลุ่มวังสายทอง จำนวนกว่า 100 คน ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการเก็บข้อมูลภาคสนามมากกว่า 1 ปี จากการศึกษาพบว่า ในช่วงกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาพื้นที่ป่าบริเวณนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการรุกล้ำป่าโดยกลุ่มนายทุนและชาวบ้าน ส่งผลให้ทรัพยากรป่าลดน้อยมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชาวมันนิที่ยังชีพด้วยการหาของล่าสัตว์  ทั้งนี้มันนิมีความคิดที่ว่า “ป่าคือบ้าน และแหล่งอาหาร” เมื่อผืนป่าขาดความสมบูรณ์ ปัญหาหลายอย่างส่งผลต่อมันนิอย่างเห็นได้ชัด ในปีพ.ศ.2557 ภาครัฐได้ดำเนินการช่วยเหลือโดยการให้มันนิมีบัตรประชาชน ทั้งนี้มีเป้าหมายต้องการยกคุณภาพชีวิตของชาวมันนิให้ดีขึ้น สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการจากรัฐได้อย่างเต็มที่ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าภายหลังการมีบัตรประชาชนของมันนินำมาซึ่งความยุ่งยากและปัญหาในการดำเนินชีวิต ชาวมันนิเกิดความหวาดระแวงและเกรงกลัวที่จะล่าสัตว์ในป่า เนื่องจากกฎหมายภายใต้บัตรประชาชนกำหนดการล่าสัตว์เป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมายซึ่งขัดกับวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมไปถึงปัญหาบัตรประชาชนถูกเก็บรวมไว้ที่ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เนื่องจากกลัวว่ามันนิจะทำบัตรหายและต้องทำบัตรใหม่ อีกทั้งยังพบอีกว่า ชาวมันนิยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิ และเข้าถึงสวัสดิการที่ตนเองพึงได้รับ เนื่องด้วยหน่วยงานรัฐท้องถิ่นหรือชาวบ้านซึ่งเป็นคนกลางสื่อสารและอธิบายข้อมูลอย่างกำกวมและไม่ครบถ้วน ประกอบกับการสื่อสารกันเองระหว่างมันนิที่มีความรู้ความเข้าใจที่จำกัด ทำให้มันนิไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอันเป็นเป้าหมายของการมีบัตรประชาชนที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

คำสำคัญ : มันนิ คุณภาพชีวิต บัตรประชาชน สิทธิสวัสดิการ

บทคัดย่อ

บทความชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งศึกษาการปรับตัวของชาวมันนิภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของป่าเทือกเขาบรรทัดและผลกระทบของการขยายตัวของชุมชนชาวบ้านโดยรอบ ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลจากภาคสนามด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม พร้อมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “มันนิ” ที่อาศัยอยู่ในป่าภาคใต้ของประเทศไทยในเขตจังหวัดสตูลกว่า 1 ปี พบว่า ป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัดนับตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ความอุดมสมบูรณ์เริ่มลดน้อยลงอันเนื่องมาจากการให้สัมปทานป่าไม้ สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ และโครงการอ่างเก็บน้ำป่าบอนที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ ที่เป็นทั้งปัจจัยหลักทำให้ป่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ผนวกการขยายตัวของชุมชนโดยรอบที่ต้องการที่ดินทำกินเพิ่ม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหาของป่าล่าสัตว์ของชาวมันนิโดยตรง พร้อมกันนั้นกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นหลายกลุ่มเริ่มขยายอิทธิพลครอบงำและหาผลประโยชน์กับชาวมันนิ ผูกมัดให้ชาวมันนิต้องพึ่งพิงกับกลุ่มต่าง ๆ ความสัมพันธ์ของผู้อ่อนแอกว่าอย่างมันนิจึงจำเป็นต้องพึ่งพิงอยู่กับหลายกลุ่ม แม้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มันนิถูกเอาเปรียบอยู่เสมอและไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่มันนิก็อาศัยการพึ่งพิงกลุ่มผู้มีอำนาจหนึ่ง ๆ เป็นกลยุทธ์ในการต่อรองกับกลุ่มอื่นที่แสวงหาผลประโยชน์กับมันนิเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายของการกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับป่าล่าสัตว์ตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างมีอิสระเช่นสมัยก่อนที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ หากแต่ความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพิงกับกลุ่มผู้มีอำนาจมากกว่า นานวันขึ้นยิ่งเป็นวังวน ทำให้ผู้อ่อนแออย่าง  มันนิไม่สามารถหลุดพ้นการครอบงำและแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายได้ ทั้งนี้ยิ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากและสับสนให้แก่มันนิมากขึ้น

คำสำคัญ:  มันนิ  ป่าเปลี่ยนแปลง  เครือข่ายอำนาจ  กลยุทธ์การต่อรอง

บทคัดย่อ

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก และไข้ชิกุนคุนย่าในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดอยู่อันดับ 5 ของประเทศไทย และ จังหวัดปัตตานี มีจำนวนผู้ป่วยไข้ชิกุนคุนย่าอยู่อันดับ 1 ของประเทศไทยในปี 2562

การศึกษาครั้งนี้เป็นค้นหาความหมายของ “ยุงลาย” ในฐานะผู้กระทำ (agency) และความเจ็บป่วย (illness) ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และไข้ชิกุนคุนย่า ด้วยวิธีการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาในชุมชนประมงพื้นที่ จำนวน 2 แห่งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี  การศึกษาเริ่มจากการสังเกตวงจรชีวิตของยุงลาย ที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ในระบบนิเวศวิทยาที่มียุงลายบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชุมชน และ สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการกลุ่มผู้ป่วยจากโรคทั้งสองในชุมชน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564

การศึกษาชีวิต“ยุงลายบ้าน” ได้ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบระบบนิเวศ ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนประมงมุสลิม ร่วมกับการเกิดขึ้นของโรคระบาดที่มาจากยุงลายทั้งไข้เลือดออก และไข้ชิกุนคุนย่า โดยผู้ป่วยจากโรคทั้งสองได้นิยามยุงลายในฐานะ “สมาชิกในครัวเรือน” เสมือนผู้คนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ทั้งกิจกรรมครัวเรือน และชีวิตประจำวันของสมาชิกในชุมชน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กิจกรรมออกเรือ อาชีพตากปลาเค็ม เป็นต้น นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรจากการขยายตัวของเมืองสู่พื้นที่ชายฝั่งของประมงพื้นบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน และการเพิ่มขึ้นของขยะชุมชน แหล่งน้ำขังเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งจากครัวเรือน บ้านเช่า ตลาดนัด

คำสำคัญ: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยโรคติดเชื้อ ไข้เลือดออก ไข้ชิกุนคุนย่า ยุงลายบ้าน ชุมชนประมงมุสลิม

บทคัดย่อ

บทความมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนที่ได้จากกระบวนการจัดการความรู้ของผู้ประกอบการสวนเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็กบนพื้นที่สูง และเพื่อสังเคราะห์แนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน โดยใช้ระเบียบวิธีวิทยาของทฤษฎีฐานรากเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการวิจัยเอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมจาก 3 สวนเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็กและขนาดกลาง ในจังหวัดพิษณุโลก ที่มีความลาดเอียงร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 35 ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 150-500 เมตร ในเนื้อที่ระหว่าง 5 ถึง 50 ไร่ ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการที่มีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้การเกษตรอินทรีย์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาจากความอิ่มตัวของข้อมูลภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาหลักของสวนเกษตรกลุ่มเป้าหมายมีความคล้ายคลึงกันโดยสรุป 4 ประการ ได้แก่ ปัญหาการออกแบบภูมิทัศน์เกษตร ความลาดเอียง สภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นที่ตั้งของแปลงเกษตร และปัญหาด้านการจัดการความรู้ ผลการศึกษามีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ กรอบคิดการทำเกษตรตามหลักสามัญเป็นอุปสรรคต่อการเกษตรกรรมที่มีคุณลักษณะและสภาพปัญหาเฉพาะ และการพัฒนากระบวนการคิดด้านการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างมีพลวัตมีความสำคัญต่อการบรรเทาข้อจำกัดดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรบูรณาการประสบการณ์ในแปลงเกษตรชองเกษตรกรเข้ากับความรู้ความเข้าใจในกรอบการทำงานแบบระบบนิเวศน์เกษตรอินทรีย์ ร่วมกันพัฒนาทักษะโดยใช้การจัดการความรู้ในประเด็นปัญหาที่มีความเฉพาะ ก่อนออกแบบมาตรฐานกระบวนการผลิตทั้งระบบแบบมีส่วนร่วม 

คำสำคัญ: การจัดการความรู้ ความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืน สวนเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็ก

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด