บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


เด็กและสตรีกับประเด็นทางประชากร

บทคัดย่อ

การใช้เพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis; PrEP)  เพื่อการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสนั้นเป็นทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในหญิงข้ามเพศซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นประชากรหลักของการติดเชื้อเอชไอวี การใช้เพร็พอย่างต่อเนื่องและการหยุดการใช้เพร็พเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นศึกษาสัดส่วนและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการหยุดใช้เพร็พเพื่อการป้องกันเอชไอวีก่อนการสัมผัสในกลุ่มหญิงข้ามเพศ การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบภาคตัดขวาง โดยเก็บข้อมูลในช่วงเดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และใช้การ เก็บข้อมูลด้วยการตอบแบบสอบถามโดยการตอบด้วยตนเองในประชากรหญิงข้ามเพศที่มีประวัติการรับเพร็พและมารับบริการที่คลินิกสุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หญิงข้ามเพศแสดงความยินยอมในการเข้าร่วมการศึกษาและตอบแบบสอบถาม ทั้งหมด 173 คน โดยอายุเฉลี่ย 26 ปี (S.D. ±5.4) จากผลการศึกษาพบว่า 23.7 %  มีการหยุดใช้เพร็พ และ 76.3% ยังคงใช้เพร็พอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ต่อการหยุดใช้เพร็พในหญิงข้ามเพศมีปัจจัยสัมพันธ์กับการทำงานอาชีพเสริมเป็นพนักงานขายบริการ (AdjOR 14.4, 95%CI 5.3-39.0, p=<0.001)  ลักษณะคู่นอนเป็นคู่นอนประจำ (AdjOR 8.2, 95%CI 2.8-24.0, p=<0.001)   และการไม่ใช้ถุงยางอนามัยของหญิงข้ามเพศ (AdjOR 14.3, 95%CI 2.2-91.2, p=0.005) การป้องกันเอชไอวีโดยการกินเพร็พอย่างสม่ำเสมอ (PrEP continuation) ในประชากรหลักนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย โดยเฉพาะ
ในกลุ่มหญิงข้ามเพศนั้นที่ยังไม่มีการแนะนำการใช้เพร็พเมื่อต้องการ (on demand PrEP) เหมือนประชากรชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเนื่องจากปัจจัยที่มีผลกระทบจากฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ดังนั้นหากมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยเชิงลึกที่มีผลต่อการหยุดใช้เพร็พนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงข้ามเพศ

คำสำคัญ: การป้องกันเอชไอวี เพร็พ หญิงข้ามเพศ พฤติกรรมเสี่ยง

 

 

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบค้นเรื่องราวของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เก็บข้อมูลผ่านการสังเกตการณ์ระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้นได้เข้าไปสัมภาษณ์ครอบครัวของเด็กเหล่านั้น การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยผ่านเรื่องเล่าของครอบครัว โดยแม่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวครั้งนี้ จำนวนครอบครัวที่เล่าเรื่องมี 2 ครอบครัว ผลการศึกษาจากประเด็นคำถาม “ทำไมหนูไม่ไปโรงเรียน” พบว่า การใช้ภาษาไทยสื่อสาร และการขาดแหล่งข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงการขาดบุคคลแนะนำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติและบุตรหลานของพวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น การไปโรงเรียน ซึ่งครอบครัวที่ให้ข้อมูลเล่าว่า “เป็นเพราะความไม่รู้ ไม่ว่าจะไม่รู้ในกรณีใดก็ตาม รวมถึงเรื่องเอกสารทางราชการเป็นประเด็นสำคัญ”  สำหรับครอบครัวแรกอาจจะเป็นเพราะความไม่รู้และการขาดข้อมูล ทำให้ลูกๆ ไม่ได้มีเอกสารแจ้งเกิด รวมถึงนำไปสู่การไม่สามารถเข้าเรียนได้ นอกจากนี้ปัญหาการคุมกำเนิดหรือการวางแผนครอบครัวยังเป็นปัญหาที่ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของครอบครัวนี้ จนทำให้ไม่มีเวลาจัดการลูกให้เข้าโรงเรียน อันมีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกๆ ที่อยู่ในเกณฑ์เข้าเรียน และครอบครัวที่สอง แม้ว่าจะโชคดีที่พ่อแม่เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ลูกได้เข้าเรียน แต่ก็เกิดปัญหาการเทียบชั้นเรียน ทำให้ต้องมาเริ่มต้นเรียนระดับต้นใหม่อีกครั้ง แม้ว่าเด็กมีอายุ 13 ปีแล้ว และจบประถมต้นในถิ่นต้นทาง (ประเทศกัมพูชา) แล้วก็ตาม

คำสำคัญ: ไม่ได้ไปโรงเรียน  เรื่องเล่า ชายแดนใต้ แรงงานข้ามชาติ

บทคัดย่อ

การเรียนเรียนรู้ ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งครูหรือผู้ดูแลมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างมาก ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสม ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาการจัดการเรียนรู้ของครูหรือครูผู้ดูแลเด็กศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาปฐมวัยแห่งชาติ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ มีหน่วยในการวิเคราะห์ระดับบุคคลและองค์กร เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างครูและผู้ดูแลเด็ก จำนวน 129 ราย จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดอุบลราชธานี และใช้สถิติอย่างง่ายในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
ผลการวิจัยพบว่า ครูหรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัยวัยส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 66.7 โดยร้อยละ 70.7 ของครูทั้งหมดมีวุฒิการศึกษาปฐมวัยหรือวุฒิที่เกี่ยวข้อง (ศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์) และครูหรือผู้ดูแลเด็กเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด มีประสบการณ์ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เกิน 10 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าครูหรือผู้ดูแลส่วนใหญ่มีการรับรู้ทักษะการบริหารจัดการสมอง (Executive Function) ในระดับปานกลาง ร้อยละ 74.0 โดยเฉพาะทักษะปฏิบัติสูงที่สุด ถึงร้อยละ 80.3 นอกจากนี้ยังพบว่าครูหรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัยทั้งหมดมีการใช้ทุนในระดับปานกลาง ร้อยละ 59.3 โดยเฉพาะการใช้ทุนสัญลักษณ์สูงที่สุด ร้อยละ 83.4 สำหรับด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่า
ครูหรือผู้ดูแลเด็กเกือบ 2 ใน 3 สามารถจัดการเรียนรู้ได้ในระดับสูง ร้อยละ 55.1   

คำสำคัญ:  การจัดการเรียนรู้ เด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด