บทคัดย่อ

การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2564 รูปแบบออนไลน์
โดย สมาคมนักประชากรไทย
วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564


ประชากรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

บทคัดย่อ

บทความเรื่อง “การให้คำอธิบายความรุนแรงในโลกออนไลน์: กรณีศึกษานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองของนิสิตจุฬาฯ ต่อการให้คำอธิบายความรุนแรงในโลกออนไลน์ และวิเคราะห์การให้คำอธิบายและตีความว่าเป็นผลผลิตจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างไร เหตุผลที่เลือกนิสิตจุฬาฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาที่เน้นการศึกษาเชิงวิพากษ์เป็นสำคัญ โดยผู้วิจัยได้ทำวรรณคดีปริทัศน์งานวิจัยในประเทศและต่างประเทศ และสัมภาษณ์นิสิตที่มีอายุ 18-23 ปี จำนวน 21 คน ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เนื้อหา โดยอาศัยกรอบแนวคิดเรื่องความรุนแรงในโลกออนไลน์ และทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ผลการศึกษาพบว่า การให้คำอธิบายความรุนแรงในโลกออนไลน์ของนิสิตจุฬาฯ มีทั้งเหมือนและแตกต่างจากวรรณคดีปริทัศน์ โดยความเหมือนเกิดจากสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเยาวชนกลุ่มนี้ และเงื่อนไขสำคัญของความแตกต่างในการให้คำอธิบายเกิดจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล การตีความจากสิ่งที่เรียนรู้ รวมถึงภาพของสัญญะที่เป็นตัวแทนของความรุนแรง การศึกษานี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการปลูกฝังทัศนคติในการใช้สื่อออนไลน์ที่ถูกต้อง รวมถึงการสร้างความเข้าใจรูปแบบความรุนแรงที่เปลี่ยนไป เพื่อนำมาพัฒนาแก้ไขป้องกันปัญหาความรุนแรงในโลกออนไลน์ได้อย่างทันต่อยุคสมัย

คำสำคัญ: ความรุนแรงในโลกออนไลน์ สื่อออนไลน์ การสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องการตายดิจิทัล หรือ Digital Death โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองชาวดิจิทัลไทยต่อการวางแผนจัดการชีวิตในโลกดิจิทัลหลังความตายของบุคคล การวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการใช้แบบสอบถามปลายเปิดและการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มนิสิต นักศึกษาจาก 6 สถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร จำนวน 28 คน ดำเนินการในเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบจัดประเภทข้อมูล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่คิดว่าตนเองจะมีชีวิตยืนยาวและเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าอายุ 60 ปี และบางส่วนเชื่อว่าอนาคตอาจไม่มีการตายที่แท้จริง ทั้งนี้ หลายคนคิดว่าข้อมูลในโลกออนไลน์ เช่น ภาพ ข้อความ รายการเพลง อีเมล เว็บเพจ ฯลฯ นั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เพราะเกิดจากการผลิตของแต่ละคน เป็นข้อมูลส่วนตัว และประเด็นความเป็นลิขสิทธิ์ สำหรับมุมมองต่อการวางแผนจัดการจัดการชีวิตในโลกดิจิทัลหลังความตายของบุคคลนั้น พบว่า สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ตั้งใจจจะเก็บข้อมูลไว้โดยส่งต่อการจัดการบัญชีให้คนใกล้ชิด หรือเก็บไว้ให้ลูกหลาน อีกกลุ่มคือไม่ต้องการเก็บข้อมูลบัญชีไว้ ต้องการปิดหรือลบทิ้ง และกลุ่มสุดท้ายคือไม่จัดการใด ๆ ปล่อยให้เป็นไปตามการจัดการของแพลตฟอร์มที่ใช้บริการเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ให้ข้อมูลส่วนมากไม่มีการรับรู้ถึงวิธีการจัดการ และยังไม่ได้วางแผนดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับข้อมูลในโลกดิจิทัลภายหลังความตายของตนเอง อีกทั้งหลายคนต่างก็มีมุมมองต่อความตายในลักษณะของความหวาดกลัว วิตกกังวล ถึงสิ่งที่ตนเองยังไม่ได้ทำ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้กลัวความตายนั้นส่วนใหญ่มองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ผลการวิจัยครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพของความไม่พร้อมในการเตรียมการด้านความตายโดยเฉพาะการจัดการโลกดิจิทัลของคนไทยในกลุ่มชาวดิจิทัล ที่จะมีการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริมความรู้ และมาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัลหลังบุคคลเสียชีวิตสำหรับกรณีของประเทศไทยต่อไป

คำสำคัญ: การตายดิจิทัล การวางแผนความตาย เครือข่ายสังคมออนไลน์ ข้อมูลดิจิทัลส่วนบุคคล ชาวดิจิทัลไทย

บทคัดย่อ

สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ได้สร้างความเครียดและความทุกข์ทางอารมณ์ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โครงการดนตรีบำบัดแบบออนไลน์นี้เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้รับบริการทั้งสองกลุ่มนี้เข้าถึงการบำบัดได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ลดความเครียด (2) เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการและครอบครัว และ (3) พัฒนาแนวทางในการให้บริการดนตรีบำบัดแบบออนไลน์ ผู้รับบริการในโครงการ ได้แก่ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ช่วงอายุระหว่าง 6-10 ปี จำนวน 45 คน รับบริการแบบเดี่ยวจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และ ผู้สูงอายุ ช่วงอายุระหว่าง 65-85 ปี จำนวน 155 คน รับบริการแบบกลุ่มจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที บนแอปพลิเคชัน Line และ Webex เครื่องมือที่ใช้ในการวัด คือ แบบประเมินความเครียด ST5 แบบประเมินความสุขคนไทย (กรมสุขภาพจิต) และแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรม  ผลจากการเปรียบเทียบคะแนนด้านความเครียดและความสัมพันธ์ในครอบครัวของผู้รับบริการทั้งก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษร้อยละ 80.00 และผู้สูงอายุร้อยละ 78.06 มีคะแนนความเครียดที่ลดลง เด็กที่มีความต้องการพิเศษร้อยละ 82.22 และผู้สูงอายุร้อยละ 90.32 มีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวมากขึ้น ในด้านความพึงพอใจต่อกิจกรรมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 9.45 และผู้สูงอายุอยู่ที่ 8.09 จากคะแนนเต็ม 10 และได้แนวทางการให้บริการดนตรีบำบัดแบบออนไลน์ ดังนี้ การเตรียมความพร้อม กระบวนการทำบำบัดแบบออนไลน์ วิธีการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดและเพลงสำหรับผู้รับบริการแต่ละกลุ่ม

คำสำคัญ: ดนตรีบำบัด การบำบัดแบบออนไลน์ โควิด-19 เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผู้สูงอายุ  

ติดต่อ

สมาคมนักประชากรไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170


เวลาทำการ

  • วันจันทร์ - วันศุกร์: 8.30-16.30 น.
  • วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกต์: ปิด